เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
คำว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว อธิบายว่า ฟัง ได้แก่ สดับ
เรียน ทรงจำ เข้าไปกำหนดซึ่งพระดำรัส คือ คำที่เป็นแนวทาง เทศนา คำสั่งสอน
คำพร่ำสอนของพระองค์แล้ว รวมความว่า บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว

ว่าด้วยสิกขา 3
คำว่า พึงศึกษา ในคำว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า
สิกขา 3 คือ
1. อธิสีลสิกขา
2. อธิจิตตสิกขา
3. อธิปัญญาสิกขา ฯลฯ
นี้ชื่อว่าอธิปัญญาสิกขา1
คำว่า ธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน อธิบายว่า พึงศึกษาทั้งอธิสีลสิกขา
ทั้งอธิจิตตสิกขา ทั้งอธิปัญญาสิกขา เพื่อให้ราคะ โทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ
ของตนดับไป ฯลฯ เพื่อความสงบ เข้าไปสงบ สงบเย็น เพื่อให้ดับ เพื่อสลัดทิ้ง
เพื่อความระงับอกุสลาภิสังขารทุกประเภท
สิกขา 3 เหล่านี้ เมื่อบุคคลนึกถึง ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทราบ ชื่อว่าพึงศึกษา
เมื่อเห็น ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อพิจารณา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่ออธิษฐานจิต ชื่อว่าพึง
ศึกษา เมื่อน้อมใจเชื่อด้วยศรัทธา ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อประคองความเพียร ชื่อว่า
พึงศึกษา เมื่อตั้งสติ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อตั้งใจ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดด้วยปัญญา
ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อรู้ชัดธรรมที่ควรรู้ชัด ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อกำหนดรู้ธรรมที่ควร
กำหนดรู้ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อละธรรมที่ควรละ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อเจริญธรรมที่
ควรเจริญ ชื่อว่าพึงศึกษา เมื่อทำให้แจ้งธรรมที่ควรทำให้แจ้ง ชื่อว่าพึงศึกษา คือ
พึงประพฤติ ประพฤติเอื้อเฟื้อ ประพฤติเอื้อเฟื้อโดยชอบ สมาทานประพฤติ
รวมความว่า พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน ด้วยเหตุนั้น พราหมณ์นั้น
จึงกราบทูลว่า

เชิงอรรถ :
1 ดูรายละเอียดข้อ 7/63-64

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :157 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส [ปารายนวรรค] 5. มาณวปัญหานิทเทส 5. โธตกมาณวปัญหานิทเทส
(ท่านโธตกะทูลถาม ดังนี้)
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามพระองค์
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าพระองค์มุ่งหวังจะรับฟังพระวาจาของพระองค์อย่างยิ่ง
บุคคลฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน
[31] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ)
ถ้าเช่นนั้น เธอผู้มีปัญญารักษาตน
มีสติ จงทำความเพียรในที่นี้แล
บุคคลได้ฟังเสียงจากที่นี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเหตุดับกิเลสเพื่อตน (2)
คำว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร อธิบายว่า เธอจงทำความเพียร
คือ จงทำความอุตสาหะ ความหมั่นเพียร ความพยายาม ความทรงจำ ความ
เป็นผู้กล้า ได้แก่ จงให้ฉันทะเกิด คือ จงให้เกิดขึ้น ตั้งขึ้นไว้ ตั้งขึ้นไว้พร้อม ให้บังเกิด
ให้บังเกิดขึ้น รวมความว่า ถ้าเช่นนั้น เธอ...จงทำความเพียร
คำว่า โธตกะ เป็นคำที่พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อ
คำว่า พระผู้มีพระภาค นี้ เป็นคำกล่าวโดยความเคารพ ฯลฯ คำว่า พระ
ผู้มีพระภาค นี้ เป็นสัจฉิกาบัญญัติ รวมความว่า พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า โธตกะ
คำว่า ในที่นี้ ในคำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติ ... ในที่นี้แล อธิบายว่า
ในความเห็นนี้ คือ ในความถูกใจนี้ ความพอใจนี้ ความยึดถือนี้ ธรรมนี้ วินัยนี้
ธรรมวินัยนี้ ปาพจน์นี้ พรหมจรรย์นี้ สัตถุศาสน์นี้ อัตภาพนี้ มนุษยโลกนี้
คำว่า ผู้มีปัญญารักษาตน ได้แก่ ผู้มีปัญญารักษาตน คือ ผู้เป็นบัณฑิต มี
ปัญญา มีปัญญาเครื่องตรัสรู้ มีญาณ มีปัญญาแจ่มแจ้ง มีปัญญาเป็นเครื่อง
ทำลายกิเลส

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 30 หน้า :158 }